หน้าแรก | ข้อมูลเกี่ยวกับประเทศไทย | สภาพเศรษฐกิจและสังคม

 

หน่วยงานสหประชาชาติในไทย
หน่วยงานของ UN 24 หน่วยงาน
กำลังปฎิบัติงานอยู่ในประเทศไทย
ติดต่อและค้นหาหน่วยงานต่างได้ที่นี่
ลิงค์ที่มีประโยชน์
องค์การสหประชาชาติ
ระบบ/โครงสร้างองค์การสหประชาชาติ
UN Millennium Summit
ESA
ข้อมูลสถิติ
ธนาคารโลก
กองทุนการเงินระหว่างประเทศ
 
 
ข้อมูลเกี่ยวกับประเทศไทย
สภาพเศรษฐกิจและสังคม
ไทยเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางซึ่งแสดงความก้าวหน้าอย่างน่าทึ่งด้านการพัฒนามนุษย์ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ปัจจุบันไทยได้รับคะแนนการพัฒนามนุษย์ที่ 0.778 คาดว่าไทยจะบรรลุเป้าหมายทั้งหมดหรือเกือบทั้งหมดของเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษล่วงหน้าก่อนสิ้นกำหนดในปี 2558 ในปี 2546 ไทยลดอัตราความยากจนจาก 27% เหลือเพียง 9.8% เทียบกับปี 2533 ในปี 2545 สัดส่วนของเด็กที่มีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ลดลงมาเกือบครึ่ง เด็กส่วนใหญ่เข้าเรียนในโรงเรียน คาดว่าเป้าหมายการศึกษาขั้นพื้นฐานสำหรับทุกคนจะบรรลุได้อีกเพียง 2-3 ปีข้างหน้า ไข้มาลาเรียไม่เป็นปัญหาในพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศอีกต่อไปแล้ว อัตราการติดเชื้อเอชไอวีใหม่ต่อปีลดลงกว่า 80% เทียบกับปี 2534 ซึ่งประสบกับการระบาดรุนแรงที่สุด ขณะที่ความเท่าเทียมทางเพศก็คืบหน้าอย่างน่าพอใจ

ความสำเร็จของไทยเป็นผลจากการผสมผสานระหว่างการวางนโยบายที่หลักแหลม การปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่เข้มแข็ง ประชากรที่ขยันหมั่นเพียร การลงทุนสาธารณะในการบริการสังคม สภาพประวัติศาสตร์และภูมิรัฐศาสตร์ที่ได้เปรียบ และประการสำคัญ การเติบโตทางเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ตามความก้าวหน้าที่เด่นชัดนี้ไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์กับทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน ผลประโยชน์เพิ่มพูนขึ้นอย่างรวดเร็วสำหรับผู้ที่เกี่ยวพันอย่างแนบแน่นกับเศรษฐกิจระหว่างประเทศ เช่น งานในภาคการผลิตเพื่อส่งออก ส่วนผู้คนที่ยังคงพึ่งพาเศรษฐกิจในประเทศ เช่น เกษตรกรที่มีแปลงเพาะปลูกขนาดเล็ก กลุ่มนี้มักได้รับประโยชน์น้อยกว่าเมื่อเทียบสัดส่วนกัน เขตเมืองของไทยเติบโตเร็วกว่าชนบท ความยากจนเป็นปัญหาที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง และยังพบได้ทั่วไปแถบชนบทของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และพื้นที่ติดชายแดนภาคเหนือและภาคใต้ของประเทศ

ดังนั้น ความท้าทายในการพัฒนาที่ยังคงอยู่ต่อไป โดยเฉพาะสำหรับคนบางกลุ่มและบางพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ ความท้าทายที่ต้องเผชิญอยู่ตลอดเวลาประกอบด้วย อัตราการเสียชีวิตที่สูงกว่าของมารดาระหว่างคลอดของชาวมุสลิมในภาคใต้ ภาวะทุพโภชนาการในเด็กที่ยังคงอยู่ในพื้นที่อยู่อาศัยที่ห่างไกลของชาวเขาในภาคเหนือ และการใช้ทรัพยากร ธรรมชาติที่ไม่ยั่งยืน นอกจากนั้น ยังมีสัญญาณเตือนการกลับมาระบาดอีกครั้งของเอชไอวี/เอดส์ ผู้หญิงยังมีโอกาสก้าวหน้าในอาชีพที่น้อยกว่า และมีการมีส่วนร่วมที่น้อยกว่าในการเลือกตั้งทางการเมือง และปัญหาความไม่เท่าเทียมทางเพศและความรุนแรงต่อผู้หญิงในครอบครัวยังคงเป็นปัญหาอยู่ ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา การปฏิรูปการศึกษาก้าวหน้าไปมาก กระนั้นก็ยังมีช่องว่างในแง่คุณภาพการศึกษาและการปรับตัวให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ

กลุ่มที่มีความเปราะบาง เช่น ผู้ย้ายถิ่น ชุมชนในชนบทบริเวณพื้นที่สุดขอบชายแดนภาคเหนือและภาคใต้ และประชากรในท้องถิ่นเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการโหมกระหน่ำจากภายในและภายนอก ภัยพิบัติจากคลื่นยักษ์สึนามิในเดือนธันวาคม 2547 เป็นตัวอย่างของกรณีเช่นนี้ ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากสึนามิ ผลกระทบระยะยาวจากภัยพิบัติในแง่ความยากจน สุขอนามัย และการศึกษายังคงเป็นสิ่งที่ประจักษ์ต่อสายตาในปัจจุบัน เท่าที่รับรู้จากรายงานนี้ ความพยายามในการบรรเทาความเดือดร้อนและการฟื้นฟูดำเนินไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิผล อย่างไรก็ตามการสูญเสียบ้านเรือนที่อยู่อาศัยและการทำมาหากินสร้างความเสียหายอย่างหนัก และประชาชนจำนวนมากยังได้รับผลกระทบอยู่จนถึงทุกวันนี้ ต้นปี 2548 จังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง

นโยบายต่อเนื่องและนโยบายใหม่ของรัฐบาลจำนวนหนึ่งมีเป้าหมายที่จะแก้ปัญหาเหล่านี้ การผ่านมติรับรองรายงานการพัฒนาแห่งสหัสวรรษของสหประชาชาติของคณะรัฐมนตรีเป็นสัญญาณที่ดี ขณะที่ปัญหาเหล่านี้ผันแปรเป็นนโยบายของรัฐบาล ซึ่งปัจจุบันจะบูรณาการเป้าหมายการพัฒนาชาติที่ทะเยอทะยาน ซึ่งเป็นสาระสำคัญในวาระ MDG ‘Plus’ เข้าไปในการวางแผนระดับชาติ

แผนการพัฒนาสตรีระดับชาติมีการกำหนดเป้าหมายที่ท้าทายเพื่อนำไปแก้ไขปัญหา เช่น การมีส่วนร่วมของหญิงในระบบการเลือกตั้งทางการเมืองที่น้อยกว่าชาย

ปัจจุบันนโยบายสุขภาพสำหรับทุกคน “30 บาทรักษาทุกโรค” ของรัฐบาลครอบคลุม 70% ของประชากรทั้งหมด โครงการมีเป้าหมายที่จะให้คนไทยทุกคนได้รับการบริการรักษาพยาบาลขั้นพื้นฐาน แม้นมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงคุณภาพของการบริการอยู่บ้าง ราวปลายปี 2547 รัฐบาลไทยเริ่มดำเนินการตามยุทธศาสตร์ “เมืองไทยแข็งแรง” ในระยะแรก ซึ่งพัฒนาขึ้นมาจากแนวทางปฏิบัติขององค์การอนามัยโลก ยุทธศาสตร์นี้มุ่งที่จะยกระดับความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสุขภาพที่ดี ความคิดริเริ่มนี้ให้คำนิยามกว้างๆ ของการมีสุขภาพดีว่า หมายถึงสุขภาพดีทั้งทางร่างกาย จิตใจ สังคม และอารมณ์ และยังสอดคล้องกับปรัชญา “เศรษฐกิจพอเพียง” ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอีกด้วย

รัฐบาลของนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตรบริหารบ้านเมืองครบเทอมในปี 2547 ในบริบทของการเลือกตั้งทั่วไปที่จะเกิดขึ้น รัฐบาลเดิมได้รับเลือกกลับมาในเดือนกุมภาพันธ์ 2548 ด้วยอาณัติที่มอบให้โดยประชาชนและสถานะในรัฐสภาที่แข็งแกร่งมาก ดังนั้น คาดว่ารูปแบบและทิศทางนโยบายที่ได้วางรากฐานไว้อย่างดีจะมีความต่อเนื่อง หากไม่เข้มข้นมากขึ้น

โดยรวมแล้ว แม้ว่าจะมีความพยายามและความก้าวหน้าที่โดดเด่น ความไม่เสมอภาคยังเป็นลักษณะพิเศษของสถานการณ์การพัฒนาของไทยที่สำคัญและน่าเป็นห่วง ในขณะที่ไทยประสบความสำเร็จอย่างสูงเชิงเศรษฐศาสตร์มหภาคและตามเกณฑ์โดยรวมของ MDG บางภูมิภาค บางกลุ่ม และกลุ่มชายขอบของสังคมยังคงถูกทอดทิ้งหรืออยู่ในสภาพที่เปราะบางอย่างน่าเป็นห่วง ประเด็นความไม่เสมอภาคด้านรายได้ การคุ้มครองทางสังคม และการเข้าถึงบริการสาธารณะเป็นข้อห่วงใยเกี่ยวกับการพัฒนามนุษย์ที่สำคัญ

การจัดการกับปัญหาความไม่เสมอภาคเหล่านี้ยังคงเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องเน้นในการสนับสนุนนโยบายการพัฒนาระดับชาติของระบบสหประชาชาติ
ความก้าวหน้าเชิงเศรษฐศาสตร์มหภาค
ตัวชี้วัดหลักสำหรับปี 2547 และ 2548 ยืนยันถึงการฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งของเศรษฐกิจไทยจากวิกฤติการเงินในปี 2540 และความสามารถในการพลิกฟื้นสู่ภาวะปกติกับแรงกระทบเช่น การระบาดของไข้หวัดนกและภัยพิบัติสึนามิ อย่างไรก็ตาม ประมาณการอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจที่ 4.2% ในปี 2548 ชี้ชัดว่าไทยได้เข้าสู่ช่วงชะลอตัวแล้ว แต่คาดว่าจีดีพีจะเพิ่มสูงสุดอีกครั้งราว 5% ในปี 2549

ปัจจัยสำคัญที่สุดที่ฉุดการเติบโตคือ การปรับเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของราคาน้ำมันดีเซล/เบนซินในประเทศ (ปี 2548 เพิ่มขึ้น 40% เทียบกับปี 2546) ซึ่งคาดว่าอาจส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อในปี 2548 เพิ่มขึ้นถึง 4.5% นอกจากนี้ ยังมีแรงกดดันอื่นที่มาจากปัญหาสึนามิ ภัยแล้ง ความไม่สงบในภาคใต้ และการระบาดของไข้หวัดนกอีกด้วย

ผลกระทบที่รุนแรงเหล่านี้ รวมทั้งการเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อ เป็นสาเหตุที่ความมั่นใจในการลงทุนและการบริโภคของผู้บริโภคลดลง หนี้สินครัวเรือนมีแนวโน้มสูงขึ้นในปี 2547 ขณะที่สินเชื่อผู้บริโภคเพิ่มขึ้นในอัตรา 15% ธนาคารโลกแจ้งเตือนว่า หนี้สินส่งผลให้ความเปราะบางของกลุ่มผู้มีรายได้น้อยเพิ่มขึ้น (เช่น เกษตรกรและแรงงาน) ในภาวะที่อัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มสูงขึ้นและรายได้ลดลง

กระนั้นก็ตาม เศรษฐกิจไทยได้พิสูจน์ความสามารถในการพลิกฟื้นด้วยการผ่านพ้นภาวะโหมกระหน่ำทางเศรษฐกิจ ที่ต่อเนื่องมา ก็เพราะการเติบโตที่แข็งแกร่ง ฐานะการคลังที่ดีขึ้น และเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่มีระดับสูง นอกจากนั้น ดอกเบี้ยที่ค่อนข้างต่ำและการเติบโตอย่างต่อเนื่องของปริมาณการนำเข้าและส่งออกก็มีส่วนบรรเทาความรุนแรงจากจากปัจจัยลบต่างๆ อีกด้วย